About Us

หลักการและเหตุผลของโครงการฯ

โครงการพัฒนานวัตกรรมและการเรียนรู้ด้านนิติวิศวกรรมจัดตั้งขึ้นเพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐบาลในเรื่องการเร่งรัดผลิตบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยจุดประสงค์หลักของโครงการฯ คือ การสร้างและพัฒนาบุคลากรที่มีองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญทางด้านนิติวิศวกรรม ซึ่งทางโครงการได้จัดตั้งหลักสูตรในระดับบัณฑิตศึกษาในสาขาวิชาวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต (คอมพิวเตอร์) วิชาเอกความมั่นคงและนิติวิศวกรรมเชิงเลข (Security and Digital Forensics) และมีการจัดหลักสูตรอบรมระยะสั้นเพื่อพัฒนาทักษะและความเชี่ยวชาญให้กับผู้ปฏิบัติงานในสายงานด้านนิติวิศวกรรมของหน่วยงานภาครัฐ

ทางโครงการฯ มุ่งพัฒนางานวิจัยที่ครอบคลุมทั้งด้านนิติวิศวกรรมบนคอมพิวเตอร์, ฮาร์ดดิสก์, ระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์, เครื่องคอมพิวเตอร์พกพาและ โทรศัพท์มือถือ ทั้งยังสร้างเครือข่ายความรู้และความร่วมมือทางด้านนิติวิศวกรรมกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับงานนิติวิศวกรรมและกระบวนการยุติธรรม เพื่อนำไปสู่การสร้างมาตรฐานการรองรับการพิสูจน์ ยืนยัน และวิเคราะห์หลักฐานทางด้านนิติวิศวกรรม

วัตถุประสงค์ของโครงการฯ

  • เพื่อพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมด้านนิติวิศวกรรม
  • เพื่อพัฒนากระบวนการที่นำไปสู่การสร้างมาตรฐานการรองรับการพิสูจน์ ยืนยัน และวิเคราะห์หลักฐานทางด้านนิติวิศวกรรม
  • เพื่อพัฒนางานวิจัยที่ครอบคลุมด้านนิติวิศวกรรมบนคอมพิวเตอร์และฮาร์ดดิสก์ ระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ รวมถึงเครื่องคอมพิวเตอร์พกพาและโทรศัพท์มือถือ
  • เพื่อผลิตบัณฑิตและพัฒนาบุคลากรด้านนิติวิศวกรรม ทั้งในระดับปริญญาตรี และบัณฑิตศึกษา
  • เพื่อสร้างเครือข่ายความรู้และความร่วมมือทางด้านนิติวิศวกรรมกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับงานนิติวิศวกรรมและกระบวนการยุติธรรม

ภาระกิจหลักของโครงการฯ

  • พัฒนานวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ทางด้านนิติวิศวกรรม
  • จัดอบรมเผยแพร่ความรู้ทางด้านความมั่นคงปลอดภัยในระบบคอมพิวเตอร์และงานด้านนิติวิทยาดิจิทัล

ผลงานของโครงการฯ

  1. เป็นเจ้าภาพจัดงานประชุม WUNCA ครั้งที่ 23 ซึ่งเป็นงานสัมมนาทางด้านนิติวิทยาดิจิทัล
  2. ผลงานวิชาการระดับนานาชาติด้านนิติวิศวกรรม จำนวน 1 บทความ เผยแพร่ในงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติงานของ IEEE งาน ISCIT 2010 ณ ประเทศญี่ปุ่น
  3. จัดประชุมเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางด้านนิติวิทยาดิจิทัล เพื่อจัดตั้งเครือข่ายความร่วมมือในการพัฒนาทักษะและองค์ความรู้ทางด้านนิติวิทยาดิจิทัล
  4. จัดงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติ ICSEC เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนและเผยแพร่งานวิจัยในหัวข้อทางด้านความมั่นคงบนระบบคอมพิวเตอร์และนิติวิทยาดิจิทัล
  5. จัดอบรมเพื่อเผยแพร่ความรู้เบื้องต้นของงานทางด้านนิติวิทยาดิจิทัล
  6. จัดทำคู่มือในการปฏิบัติ งานด้านนิติวิทยาดิจิทัล คู่มือแนวทางปฏิบัติสำหรับการเก็บรวบรวมหลักฐานดิจิทัลในที่เกิดเหตุ
  7. จัดตั้งห้องปฏิบัติการทางด้านนิติวิทยาดิจิทัล เพื่อเป็นต้นแบบและมาตรฐานให้กับหน่วยงานในประเทศไทย
  8. พัฒนางานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ทางด้านนิติวิศวกรรม